ข้อมูลโครงการ

การพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับพระสงฆ์โดยทีมสหวิทยาการและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างยั่งยืน : บางกอกน้อยโมเดล

หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนในเขตพื้นที่บางกอกน้อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการบางกอกน้อยโมเดล การดำเนินการที่ผ่านมาได้จัดทำโครงการการเพิ่มสมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุที่มีภาวะก่อนเปราะบางโดยใช้โปรแกรมเสริมสร้างสุขภาพแบบผสมผสานระบบการแพทย์ทางไกล ในเขตชุมชนเมือง

เนื่องจากเขตพื้นที่บางกอกน้อยนั้นมีผู้สูงอายุจำนวนมาก มีอัตราผู้สูงอายุถึง ร้อยละ 25.33 ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักอยู่ตามลำพัง ทำให้บางครั้งขาดการดูแลสุขภาพ จึงมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในสังคมเมือง โดยใช้ระบบการแพทย์ทางไกลในการติดต่อระหว่างบุคลากรในโรงพยาบาล และผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเปราะบางของผู้สูงอายุในอนาคต โดยการดำเนินงานวิจัยดังกล่าวได้ใช้พื้นที่วัดเขตบางกอกน้อยในการดำเนินกิจกรรม โดยระหว่างนั้นได้มีการสัมภาษณ์ และ ปรึกษาด้านสุขภาพพระสงฆ์ ทำให้เล็งเห็นถึงปัญหาและความต้องการการดูแลด้านสุขภาพ

การพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับพระสงฆ์ จึงเป็นการส่งเสริมให้ความรู้ด้านสุขภาพอย่างเหมาะสมกับกลุ่มประชากรพระสงฆ์ผ่านการให้บริการนวัตกรรมด้านสุขภาพ โดยเชื่อมต่อระบบต่าง ๆ ผ่านการสื่อสารทางไกล มีการเก็บข้อมูลทางสุขภาพอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง ด้วยเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ Wearable device ซึ่งข้อมูลสุขภาพจะถูกส่งผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สายไปเก็บรวบรวมไว้ในระบบฐานข้อมูล พระสงฆ์สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองที่ถูกเก็บได้ผ่าน Mobile Application และสามารถเห็นถึงการดำเนินโรค ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพย้อนหลัง นอกจากนั้นระบบสามารถคัดเลือกข้อมูลและสื่อทางสุขภาพที่เหมาะสมกับพระสงฆ์แต่ละรูป ผ่านการประมวลผลข้อมูลทางสุขภาพที่ได้รับ หรือโดยการคัดเลือกของแพทย์และส่งข้อมูลดังกล่าวโดยเป็นข้อมูลที่เหมาะสมในพระสงฆ์ พระสงฆ์ยังสามารถเข้าถึงสื่อทางสุขภาพ และผ่านระบบ e-learning โดยสื่อการสอนที่นำมาใช้นั้นเป็นสื่อการสอนทางสุขภาพที่เหมาะสมกับกลุ่มประชากรพระสงฆ์โดยเฉพาะ อีกทั้งเป็นการผลักดันเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล เพื่อให้แพทย์ บุคลากรทางสาธารณสุข และผู้ป่วยมีการสื่อสารถึงกันผ่านเทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สาย ที่ในปัจจุบันมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศไทย ทำให้การส่งเสริมสุขภาพและการเข้าถึงการให้บริการทางสุขภาพ เป็นไปได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น